กระแสรีเฮ้าส์เลนส์ช่วงหลายปีมานี้คึกคักมาก มีเจ้าใหญ่ๆ หลายๆ เจ้าที่ครองตลาดบนอย่างเหนียวแน่น หลักๆ ที่น่าจะรู้จักกันก็น่าจะเป็น Zero Optik จากฝั่งอเมริกา และ TLS หรือ True Lens Services จากเกาะอังกฤษ นอกนั้นก็มีเจ้าเก่าเจ้าเดิมที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมาแรงแล้วอย่าง P+S Technik จากเยอรมัน
แต่รู้หรือไม่ว่าการรีเฮ้าส์เลนส์นั้นมีมาเนิ่นนานมากแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 หรืออาจจะย้อนกลับไปมากกว่านั้น ก็มีการรีเฮ้าส์เลนส์กันมากมายแล้ว อย่างที่น่าจะพอเคยได้ยินกันบ้างก็เช่น Cineovision ที่เอาเลนส์ Olympus OM/Pen-F และ Contax Zeiss หลายตัวมารีเฮ้าส์ หรือ Optex ที่รีเฮ้าส์เลนส์ Canon ในช่วงต้นปี 90s
ย้อนกลับมาคำถามสำคัญ การรีเฮ้าส์เลนส์ หรือ Lens Rehousing คืออะไร? ทำไมช่วงหลังๆ นี้ถึงได้ยินกันหนาหูจังเลย และนี่ใช่ตัวการสำคัญที่ทำให้เลนส์หมุนมือราคาพุ่ง (มองไปที่ Canon FD) หรือเปล่า?
ขึ้นชื่อว่าเลนส์ ยังไงก็ต้องใช้คู่กับกล้อง แต่กล้องก็มีหลากหลายรูปแบบสำหรับหลากหลายการใช้งานเหลือเกิน แต่โดยหลักแล้วก็จะมีอยู่สองลักษณะการใช้งาน แบบแรกคือใช้สำหรับการถ่ายภาพนิ่ง และแบบที่สองคือการใช้สำหรับถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือการถ่ายหนัง/วิดีโอ นั่นเอง
เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเลนส์มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน ทำให้คุณภาพของภาพที่ได้นั้นได้รับการปรับปรุงมาเรื่อยๆ ทั้งในด้านของเทคโนโลยีการผลิต และการออกแบบชิ้นเลนส์ ทำให้เลนส์สมัยใหม่นั้นมีความคมชัด สามารถเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้ดี แม้เปิดหน้าเลนส์กว้างสุด (นึกถึง Nikon 58mm f/1.2 Noct หรือ Zeiss Otus) ก็ยังคงคมชัด และมีคอนทราสจัดจ้าน อีกทั้งยังปราศจากความคลาดเคลื่อนของสีใดๆ ให้ต้องรำคาญใจเลย
ทว่า ผู้คนมากมายกลับโหยหาความไม่สมบูรณ์แบบของเลนส์ยุคเก่า หรือที่เรียกว่าเลนส์วินเทจ โดยเฉพาะสายวิดีโอที่พูดเกือบจะเป็นเสียงเดียวกันว่าเลนส์สมัยใหม่นั้นมัน “คมเกินไป” ไร้ซึ่งจิตวิญญาณที่ตราตรึงของเลนส์สมัยเก่า ไม่ว่าจะเป็นความบิดเบี้ยว แสงสะท้อนที่ทำให้เกิดจุดสว่างบนภาพไม่ซ้ำกันแล้วแต่เลนส์ หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ กันไปของเลนส์ยุคเก่า
นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผู้คนโหยหาเลนส์เก่าๆ มาใช้ถ่ายวิดีโอกัน โดยเฉพาะข้อสำคัญคือมันไม่ใช่แค่เลนส์ที่ได้รับการพัฒนา แต่กล้องเองก็ได้รับการพัฒนามาอย่างมากด้วย ทุกวันนี้เรามีกล้องวิดีโอความละเอียด 8K (ราวๆ 33 ล้านพิกเซล เยอะกว่ากล้อง flagship อย่าง D3s สมัยก่อนอีก!) คมชัดทุกรายละเอียด และเมื่อใช้คู่กับเลนส์สมัยใหม่ที่คมมากๆ แล้ว ยิ่งทำให้เกิดความละเอียดของภาพที่ “สมจริง” เหมือนตาเห็นสุดๆ แต่ทว่า นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินต้องการ!
สิ่งที่ผู้สร้างหนัง หรือช่างภาพวิดีโอทั้งหลายโหยหา กลับกลายเป็นความคลาสสิก ความไม่สมบูรณ์แบบของฟิล์มหนังยุคเก่าที่ถ่ายด้วยเลนส์ในสมัยเดียวกัน แต่การหาเลนส์วินเทจมาถ่ายกับกล้องรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกล้องในอุตสาหกรรมการถ่ายหนัง หรือวิดีโอนั้น กลับต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับกล้องถ่ายหนังที่มักจะเป็น PL (ตอนนี้เริ่มเป็น LPL กันแล้ว) หรือการใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่เรียกว่า rig เช่น follow focus ที่มีรายละเอียดจุกจิกมากมาย เป็นต้นว่าตำแหน่งวงแหวน iris และ focus ควรอยู่ที่เดียวกันทุกเลนส์เพื่อที่เวลาเปลี่ยนเลนส์จะได้ไม่ต้องย้าย follow focus บ่อยๆ หรือหน้าเลนส์ที่ควรจะมีขนาดมาตรฐานตาม matte box ที่ใช้บังแสง หรือใส่ฟิลเตอร์สำหรับเลนส์ถ่ายหนัง (เช่น หน้าเลนส์ 80mm, 95mm, 110mm ฯลฯ) ยังไม่รวมถึงการที่ตัวบอดี้ของเลนส์ต้องแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงบิดของ wireless follow focus ระดับที่ทำให้ stopper ของเลนส์พังได้ หรือการที่เลนส์จะต้องไม่ยืดหด (telescoping) และไม่หมุน (rotating) ในเวลาโฟกัสด้วย
ปัญหาเหล่านี้เองที่ทำให้มีการจับเอาเลนส์ยุคฟิล์ม หรือเลนส์วินเทจทั้งหลายที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน (และมี hype หรือกระแสมาดันให้ได้รับความนิยม) เช่น Canon FD หรือ Contax Zeiss หรือแม้กระทั่ง Leica R มาถอดชิ้นส่วนเก่าออกหมด คงเหลือแต่เพียงชิ้นเลนส์ แล้วออกแบบ และสร้างตัวโครงเลนส์ใหม่เพื่อควบคุมการโฟกัส และการปรับรูรับแสง พร้อมทั้งใส่ฟีเจอร์ต่างๆ มากมายเพื่อรองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มรูปแบบดังที่กล่าวมา
หากแต่อุตสาหกรรมหนังนั้น ย่อมมาพร้อมกับเงินทุนมหาศาล ถ้าสังเกต จะพบว่าไม่กี่ปีมานี้ราคา Canon FD และหลายหมุนมือหลายๆ ตัวพุ่งทะยานขึ้นมากถึง 10 เท่า หรือมากกว่านั้นเสียอีก เนื่องจากคนในอุตสาหกรรมหนังมากว้านซื้อเลนส์พวกนี้ไปซะเกลี้ยง เมื่อของมีน้อย แต่ความต้องการมีมาก ราคาจึงพุ่งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ พาไปสู่สถานการณ์ที่แทบจะเหมือนเหตุการณ์ Tulip mania ในอดีต จากเดิมที่เลนส์บางตัวขายกันราคาหลักพัน ตอนนี้มุ่งสู่ค่าตัวหลายแสนกันแล้ว ทั้งๆ ที่มันก็คือเลนส์ตัวเดิมตัวเดียวกับเมื่อก่อนที่ราคาหลักพัน!
แม้หลายๆ ค่าย รวมถึง Canon จะพยายามทำเลนส์ที่มีความคล้ายคลึงกับเลนส์ดังในอดีต (เช่น Canon K-35) ออกมา แต่ก็ไม่วายประชาชีไม่ปลื้ม และยังคงขนขวายหาเลนส์เก่าๆ ไปรีเฮ้าส์กันต่อไป ดังนั้นจนกว่าฟองสบู่จะแตก ราคาเลนส์เก่าก็คงจะพุ่งไปเรื่อยๆ (ว่าแต่ใครมี Olympus OM 21mm f/2.0 ถูกๆ มาแบ่งขายบ้างมั้ย? 🥹)
สุดท้ายนี้ขอพูดถึงเรื่องราคาสักนิด หลายคนทักมาถามในเพจเกี่ยวกับราคา และต้องอึ้งกลับไปเมื่อพบว่าแม้แต่การรีเฮ้าส์แบบถูกก็ยังถือว่ามีราคาแพงมาก หรือถ้าเป็นเจ้าดังๆ อย่าง Zero Optik หรือ TLS นั้นยิ่งแพงเข้าไปอีก อย่างเลนส์ตัวนึง สามารถมีค่ารีเฮ้าส์แพงได้ถึง 150,000 บาทต่อตัวกันเลยทีเดียว (ไม่รวมตัวเลนส์/ชิ้นเลนส์ที่จะเอาไปรีเฮ้าส์นะ จ่ายแยกต่างหาก) ดังนั้นหากจะพูดว่าการรีเฮ้าส์เลนส์เป็นเรื่องของตลาดบน หรือตลาดสำหรับให้เช่าก็ไม่ผิดมากนัก เพราะหลายๆ คนก็รีเฮ้าส์เพื่อปล่อยเช่าจริงๆ โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างอเมริกา และยุโรป
ท้ายสุดนี้ ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากจะยิบยกมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่อง cine lens vs. still lens หรือประเด็นยิบย่อยต่างๆ มากมาย ซึ่งก็คงต้องเก็บไว้เขียนถึงในโอกาสหน้าแทน สำหรับวันนี้ ต้องขอขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ และหวังว่าจะได้กลับมาเล่าใหม่ในเร็ววัน 🥹
ภาพประกอบ: เลนส์ Contax Zeiss 85mm T1.5 และ Olympus OM 55mm T1.3 และ Olympus OM 50mm T1.5 ที่รีเฮ้าส์ในไทย